วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“เกษตร” จัดการดี ๆ มีรายได้ (เลี้ยงโคสร้างรายได้/ Cattle husbandry to make money)


การเลี้ยงโคสร้างรายได้
Cattle husbandry to make money



            มนุษย์ใช้ประโยชน์จากโคในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การบริโภคเป็นอาหาร ทั้งเนื้อโคและนมโค ใช้กำจัดวัชพืช โดยให้โคกินหญ้าในแปลงพืชยืนต้นหรือในบริเวณที่ต้องการลดวัชพืช ใช้ในเกมกีฬาและการนันทนาการ ใช้ประโยชน์จากมูลโคมาทำแก๊สชีวภาพ (bio–gas)  ทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ประโยชน์จากหนังโคไปทำเครื่องใช้และเครื่องประดับ แต่การใช้ประโยชน์หลัก ๆ ที่เห็นได้ชัดคือการบริโภคเป็นอาหาร เมื่อพิจารณาการผลิตโคในไทยปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ช่วงปี 2556-2560 การบริโภคเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ของไทยขยายตัวที่ร้อยละ 4.80 ต่อปีประกอบกับผลผลิตภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าเนื้อโคคุณภาพจากต่างประเทศ เช่น จากประเทศออสเตรเลีย ข้อมูลปี 2559 ไทยนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลียปริมาณสูงถึง 3,903 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 41.55 ของการนำเข้าเนื้อโคทั้งหมดของไทยซึ่งมีปริมาณ 9,392 ตัน[1] จะเห็นได้ว่าถ้าน้ำหนักโคขุนที่นำมาบริโภคเฉลี่ยตัวละ 500 กิโลกรัม ไทยนำเข้าโคปีละประมาณ 18,784 ตัว หากเป็นโคลูกผสมสายพันธุ์พื้นเมืองกับโคขุนน้ำหนักโคที่นำมาบริโภคได้เฉลี่ยตัวละ 300 กิโลกรัม  ไทยนำเข้าโคปีละประมาณ 31,307 ตัว ราคาเนื้อโคของออสเตรเลียราคากิโลกรัมละ 271.73 บาท[1]  ดังนั้นประเทศต้องเสียเงินซื้อเนื้อโคจากต่างประเทศสูงถึงปีละ 2,552,088,160 บาท ดังนั้นการเลี้ยงโคจึงเป็นอีกอาชีพหรือเป็นอีกวิธีที่สามารถสร้างรายได้หรือทำเงินได้ไม่ยาก
            บทความนี้จึงนำเสนอการการเลี้ยงโคโดยการใช้วิธีการบริหารจัดการเพิ่มเป็นแนวทางการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่างจากบทความอื่น ๆ ที่พบส่วนใหญ่ให้สาระความรู้ในเชิงการคัดเลือกพันธุ์ โรงเรือนเลี้ยง การให้อาหาร การดูแลรักษา ฯลฯ สำหรับสาระที่จะนำเสนอในบทความนี้เกิดจากประสบการณ์และเป็นไปได้จริง ซึ่งจะนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 3 เรื่องหลักได้แก่ ที่มาของประสบการณ์การเลี้ยงโคสร้างรายได้ วิธีการ เปรียบเทียบวิเคราะห์รายได้


ที่มาของประสบการณ์การเลี้ยงโคสร้างรายได้
วิถีชุมชนแห่งหนึ่งในอดีตชาวบ้านมักเลี้ยงโคพื้นเมือง สภาพแวดล้อมชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีพืชพันธุ์หลากหลาย ชุมชนนี้เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขาตลอดจนพื้นที่ราบตีนเขาไม่เคยมีน้ำท่วมแต่เป็นพื้นที่ที่น้ำไหลผ่านหากมีฝนตกหนัก ดังนั้นการเลี้ยงโคตามวิถีธรรมชาติจึงยังมีอาหารเพียงพอต่อโคที่เลี้ยง ชาวบ้านจะผูกล่ามโคให้กินหญ้าริมถนนหนทาง ท้องทุ่งนา ในสวนยางพาราหรือสวนผลไม้ ฯลฯ กระทั่งช่วงราว ๆ 7 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2555-2562) ชาวบ้านนิยมเลี้ยงโคลูกผสมมากขึ้น คือแม่พันธุ์เป็นโคพื้นเมืองผสมกับน้ำเชื้อโคเนื้อ โดยการผสมเทียม น้ำเชื้อโคเนื้อที่ชาวบ้านที่นี่นิยมคือ พันธุ์ชาร์โรเล่ส์ ส่วนพันธุ์อื่นที่มีบ้างได้แก่ พันธุ์บราห์มัน และ พันธุ์ซิมเมนทัล ทำให้ได้สายพันธุ์โคที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ลดปัญหาการอ่อนแอและการเกิดโรคของโค โคโตเร็ว เพิ่มปริมาณเนื้อมากขึ้น
วันหนึ่งมีคุณลุงท่านหนึ่งมาเปรยว่า อยากจะเลี้ยงโค เพราะเป็นคนที่มีใจรักและมีความชอบอยู่เป็นทุน แต่ปัญหาคือ ไม่มีทุนหรือไม่มีเงินซื้อโคมาเลี้ยง ส่วนอื่น ๆ ค่อนข้างมีความพร้อมทั้งกำลังกาย กำลังใจและแหล่งอาหารของโค คุณลุงจึงมายื่นข้อเสนอว่าช่วยซื้อโคให้เขาเลี้ยงหน่อยได้ไหม จากนั้นจึงตอบตกลงกันในการจะซื้อโคให้คุณลุงเลี้ยง โดยมีข้อตกลงเพิ่มคือ เมื่อเลี้ยงไปแล้วหลังจากนั้นหากมีการขายโคตัวนั้นให้คืนเงินทุนที่ซื้อโคตัวนั้นต่อบุคคลที่เป็นผู้ซื้อเต็มจำนวน สำหรับส่วนต่าง หรือ กำไรที่ได้ ต้องแบ่งกันคนละครึ่งระหว่างผู้เลี้ยงกับผู้ขาย หลังจากลุงเลี้ยงไปสักพัก คนอื่น ๆ ได้ทราบข่าวจึงมาขอเลี้ยงแบบลุงบ้าง ดังนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงโคโดยการใช้ระบบการจัดการเข้าช่วย ใช้คนหลาย ๆ คนมาเลี้ยงโคเพื่อให้ได้ปริมาณโคและรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายเพิ่มขึ้น

วิธีการ
            เริ่มจากตนเองต้องเลี้ยงโคด้วยตนเองก่อน โดยไม่ต้องเลี้ยงจำนวนไม่มากนัก (แค่ 1-2 ตัว หรือ 2-5 ตัว) เพื่อศึกษาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงโค ศึกษาพฤติกรรม ลักษณะนิสัยของสัตว์ และให้เกิดทักษะประสบการณ์ เพราะหากเลี้ยงจำนวนมากจะมีต้นทุนที่สูง ตั้งแต่ค่าพันธุ์โค หากจำเป็นต้องมีโรงเรือนก็ลงทุนก่อสร้างโรงเรือน ค่าอาหารกรณีอาหารจากแหล่งธรรมชาติไม่เพียงพอ ค่ายา ค่าแรงผู้เลี้ยง ฯลฯ เหล่านี้เป็นทุนทั้งสิ้น
            จากที่ชาวบ้านในชุมชนทราบข่าวบ้างแล้วว่า เราเป็นผู้ลงทุนซื้อพันธุ์โคให้ผู้คนในท้องถิ่นเลี้ยงและมีการแบ่งผลประโยชน์ตามที่ตกลงกัน ให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์โดยการบอกต่อว่าเราอาสาซื้อพันธุ์โคให้เลี้ยงหากใครมีความประสงค์ก็ให้มาติดต่อและตกลงเงื่อนไขกัน ดังนั้นขั้นต้นควรมีการคัดกรองผู้เลี้ยง
            การพิจารณาคัดเลือกผู้เลี้ยงโคเบื้องต้นเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์มีดังนี้
            1) มีใจรักการเลี้ยงโคและมีนิสัยรักสัตว์
            2) พิจารณาการมีประสบการณ์เลี้ยงโค มีประสบการณ์เลี้ยงโคมานานเท่าไร/มากน้อยแค่ไหน
            3) ศึกษาประวัติต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์
            4) มีพื้นที่หรือมีบริเวณหรือมีแหล่งอาหารธรรมชาติในการเลี้ยงโค
            5) ยอมรับเงื่อนไขที่ตกลงกัน
            เงื่อนไขการตกลงปัจจุบันมี 2 แบบ
            1) ผู้ประสงค์ที่จะเลี้ยงโคเลี้ยงโคแบบไม่เลือกเพศโค หลังจากเลี้ยง และมีการขายโคตัวที่เลี้ยง หรือ รวมทั้งลูกโค (หากโคเป็นตัวเมียอยู่ในช่วงขยายพันธุ์ได้) ให้หักเงินทุนที่ซื้อโคเริ่มต้นให้แก่เจ้าของทุนผู้ซื้อโค จากนั้นส่วนต่างหรือกำไรจะแบ่งกันคนละครึ่งระหว่างเจ้าของทุนผู้ซื้อโคกับผู้เลี้ยงโค แบบนี้มีข้อดีคือ ผู้เลี้ยงจะเป็นผู้พิจารณาในการขาย เขาจะขายเมื่อมีกำไรหลังจากแบ่งอยู่ในระดับที่เขาพอใจ
                        ตัวอย่าง
                        เจ้าของทุนผู้ซื้อโค ซื้อโค 1 ตัว ราคา 20,000 บาท ให้ผู้ประสงค์ที่จะเลี้ยงโค เมื่อผู้เลี้ยงเลี้ยงไป 6 เดือน ขายไปในราคา 26,000 บาท
                        เจ้าของทุนผู้ซื้อโค รับเงินทุนคืน 20,000 บาท และ กำไร 6,000/2 = 3,000 บาท เจ้าของทุนผู้ซื้อโครับเงินรวม 23,000 บาท
                        ผู้เลี้ยงโค รับเงินจากกำไร 6,000/2 = 3,000 บาท
            2) ผู้ประสงค์ที่จะเลี้ยงโคเลี้ยงโคแบบเลือกเพศคือ เลี้ยงเฉพาะโคเพศเมีย หลังจากเลี้ยงเมื่อแม่โคผสมพันธุ์และออกลูก ลูกตัวที่ 1 จะตกเป็นของผู้เลี้ยง ส่วนลูกตัวที่ 2 จะเป็นของเจ้าของทุนผู้ซื้อโค หากผู้เลี้ยงจะเลิกเลี้ยง จะทำได้เมื่อได้ผลผลิตลูกโคระหว่างเจ้าของทุนผู้ซื้อโคกับผู้เลี้ยงโคในจำนวนที่เท่ากัน เช่น ฝ่ายละ 1 ตัวเท่ากัน หรือ ฝ่ายละ 2 ตัวเท่ากัน และผู้เลี้ยงโคต้องคืนแม่โคกลับให้แก่เจ้าของทุนผู้ซื้อโค การแบ่งผลประโยชน์ลักษณะนี้จะใช้ช่วงเวลานาน เช่น ถ้าแม่โคนั้นอยู่ในช่วงให้ผลิตลูกได้ จะให้ได้ลูกฝ่ายละ 1 ตัว ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เพราะโคให้ลูกได้ปีละ 1 ตัว ถ้าจะให้ได้ลูกฝ่ายละ 2 ตัว ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 4 ปี
                        ตัวอย่าง
                        เจ้าของทุนผู้ซื้อโค ซื้อแม่โค 1 ตัว ราคา 20,000 บาท ให้ผู้ประสงค์ที่จะเลี้ยงแม่โค
ผู้เลี้ยงแม่โค เลี้ยงไป 2 ปี ได้ลูก 1 ตัว (มูลค่าประมาณ 3,000-4,000 บาท) ลูกโคตกเป็นของผู้เลี้ยงแม่โค จากนั้นหากผู้เลี้ยงเลี้ยงลูกโคต่อ อายุลูกโค 1 ปี มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 9,000-10,000 บาท
                        เจ้าของทุนผู้ซื้อโค ผู้เลี้ยงแม่โคเลี้ยงต่อ ปีที่ 3 ได้ลูกโคเพิ่มอีก 1 ตัว (มูลค่า/กำไร ประมาณ 3,000-4,000 บาท) ลูกโคตกเป็นของเจ้าของทุนผู้ซื้อโค หากผู้เลี้ยงแม่โคไม่เลี้ยงต่อและคืนแม่โคกลับให้แก่เจ้าของทุนผู้ซื้อโค (มูลค่าแม่โค/ทุน 20,000 บาท ) พร้อมกับลูกโค 1 ตัว (มูลค่า/กำไร 3,000-4,000 บาท) เจ้าของทุนผู้ซื้อโครับเงินรวม 23,000-24,000 บาท หากเลี้ยงลูกโคต่อมูลค่าลูกโคจะเพิ่มขึ้น เจ้าของทุนผู้ซื้อโคจะได้รับกำไรจากการขายแม่โคและลูกโค เช่น ขายแม่โค ราคา 26,000 บาท และขายลูกโค 8,000 บาท รวมมูลค่าทั้งหมด 34,000 บาท หักทุน 20,000 บาท รับส่วนต่างหรือกำไร 14,000 บาท
       ดังนั้นถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีในแต่ละเดือน สามารถทำเงินสร้างรายได้อีกทาง เช่น หากต้องการเงินรายได้แต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 10,000 บาท ควรเลี้ยงโคให้ได้อย่างน้อย 48 ตัว ในจำนวนนี้ ถ้ามีผู้เลี้ยง 16 คน แต่ละคนเลี้ยงโคได้ 3 ตัว ก็สามารถทำรายได้ให้แก่เจ้าของทุนผู้ซื้อโคเฉลี่ยต่อเดือนไม่น้อยกว่า 10,000 บาท โดยโค 48 ตัว ถ้ากำไรเฉลี่ยตัวละ 3,000 บาท 48 ตัว กำไรปีละ 144,000 บาท หรือเดือนละ 12,000 บาท
            ข้อดีของการสร้างอาชีพการเลี้ยงโคโดยสมัครใจภายใต้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าของทุนผู้ซื้อโคกับผู้เลี้ยงโค มีดังนี้
            1) สร้างอาชีพให้บุคคลในชุมชนสำหรับผู้ที่ไม่มีทุนในการซื้อโคเลี้ยงเอง
            2) เพิ่มปริมาณอาหารเพื่อการบริโภค (เนื้อโค)ในท้องถิ่น
            3) ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายทั้งเจ้าของทุนผู้ซื้อโคและผู้เลี้ยงโค
            4) เลี้ยงในสภาพธรรมชาติพื้นที่เลี้ยงและแหล่งอาหารกระจายตามภูมิลำเนาของผู้เลี้ยง แหล่งอาหารธรรมชาติเพียงพอ ลดต้นทุนส่วนหนึ่งในการเลี้ยงโค
            5) เจ้าของทุน ไม่ต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของโรงเรือนเลี้ยงและอาหารสมทบ
            6) ผู้เลี้ยงจะได้รับประโยชน์เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น การทำแก๊สชีวภาพ (bio–gas) จากมูลโค การให้โคกินหญ้าในแปลงเกษตรเพื่อลดหรือกำจัดวัชพืช
เปรียบเทียบวิเคราะห์รายได้
            ตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่าถ้าใช้เงินลงทุน 20,000 บาท จะมีกำไรโดยประมาณ 3,000 บาท/ตัว หลังจากแบ่งกับผู้เลี้ยงคนละ 50% หากลงทุนซื้อโค 140,000 บาท จะมีกำไรรวมประมาณ 21,000 บาท หากสามารถเลี้ยงและจำหน่ายได้ภายใน 1 ปี รายได้ต่อเดือนใน 1 ปี ที่มีจำนวนโค 7 ตัว เงินทุน 140,000 บาท กำไรต่อเดือนประมาณ 1,750 บาท ดังนั้นหากต้องการรายได้ต่อเดือนที่สูงขึ้น ต้องเพิ่มทุนและเพิ่มจำนวนโคที่เลี้ยง หรือ หมุนเวียนทุนเดิม โดยใช้เงินทุนจากการขายโคที่ขายออกไปได้ก่อน 1 ปี นำเงินนั้นมาซื้อโคใหม่โดยให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ตารางที่ 1 เปรียบเงินทุนและกำไรที่จะได้รับในการลงทุนในอัตราทุนเฉลี่ยต่อตัวที่เท่ากัน
จำนวนโค (ตัว)
ทุนเฉลี่ยโดยประมาณ (บาท)
กำไรที่เจ้าของเงินทุนจะได้รับหลังแบ่ง 50% (บาท)
1
20,000
3,000
2
40,000
6,000
3
60,000
9,000
4
8,0000
12,000
5
100,000
15,000
6
120,000
18,000
7
140,000
21,000

            ตารางที่ 2 ในสภาพจริง มูลค่าที่ต้องใช้เงินซื้อแต่ละตัวไม่เท่ากัน ผลตอบแทนหรือกำไรที่ได้อาจเป็นโคเดิมที่ซื้อแล้วจำหน่ายออกไป หรือ ซึ่งเป็นลูกโคที่ให้ผลผลิตจากแม่โค ในตารางจึงแสดงตัวเลขชี้ให้เห็นว่า หากสามารถเลี้ยงโคและจำหน่ายได้ภายใน 1 ปี ที่เงินทุนรวม 144,000 บาท จำได้กำไรต่อปี 31,250 บาท เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 2,600 บาท หากต้องการายได้หรือกำไรต่อเดือนที่เพิ่มขึ้นต้องเพิ่มจำนวนโคที่เลี้ยงและเพิ่มทุน

 ตารางที่ 2 เปรียบเงินทุนและกำไรที่จะได้รับในการลงทุนในอัตราทุนต่อตัวที่ต่างกัน

โคตัวที่
ราคาทุน (บาท)
ลักษณะการขาย
ราคาขาย (บาท)
กำไรที่เจ้าของเงินทุนจะได้รับหลังแบ่ง 50% (บาท)
1
22,000
โคเดิมที่ซื้อมา
27,000
2,500
2
13,000
โคเดิมที่ซื้อมา
19,000
3,000
3
17,000
โคเดิมที่ซื้อมา
24,000
3,500
4
24,000
โคเดิมที่ซื้อมา
29,000
2,500
5
26,000
ขายลูกโค
9,000
9,000
6
19,000
โคเดิมที่ซื้อมา
24,500
2,750
7
23,000
ขายลูกโค
8,000
8,000
รวม
144,000
โคเดิมที่ซื้อมา
140,500
31,250

[1] กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www.moac.go.th/news-preview-401891791647